นอนรอ! ประมูล 4G เดือด เหลือ 3 ราย เคาะไม่ยั้ง! ข้ามวัน ทะลุ 6 หมื่นล้าน
เมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 12 พ.ย. มีรายงานความคืบหน้าการประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ ซึ่งกินเวลายาวนานเกือบ 16 ชั่วโมง ยังไม่มีทีท่าจะยุติลง แม้จะผ่านการประมูลเกินรอบที่ 40 แล้วก็ตาม ยอดรวมการประมูล เกินกว่า 58,000 ล้านบาท นับตั้งแต่เปิดประมูลในชั่วโมงแรก (10.00-11.00 น.) ของวันที่ 11 พ.ย. โดยใบอนุญาตชุดที่ 1 ราคาประมูลอยู่ที่ 17,504 ล้านบาท และ ชุดที่ 2 ราคาประมูลอยู่ที่ 18,300 ล้านบาท
จากนั้นการประมูลได้ขับเคี่ยวกันอย่างต่อเนื่องในช่วงตลอดทั้งวัน โดยมีผู้เข้าประมูลทั้งหมด 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และ บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล จำกัด ซึ่งไม่มีใครยอมกัน เพราะหากหยุดเคาะจะถือว่าสละสิทธิในการประมูลทันที จนเข้าสู่ช่วงเย็น มีรายงานว่า ผู้เข้าประมูล 1 ราย หยุดเคาะราคาแข่งขันไปแล้ว ทำให้เหลืออีก 3 รายต้องสู้กันต่อไป
กระทั่งเวลา 21.00 น. คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้พักการประมูล 30 นาที เริ่มเคาะราคารอบที่ 34 ในเวลา 21.30 น. จนเมื่อเวลา 23.30 น. มีการประมูลรอบที่ 40 ใบอนุญาตชุดที่ 1 มีผู้เสนอราคา 2 ราย ขยับไปอยู่ที่ 27,454 ล้านบาท และ ชุดที่ 2 มีผู้เสนอราคา 1 ราย ราคาขยับขึ้นไปที่ 29,046 ล้านบาท รวมทั้งหมด 56,500 ล้านบาท ส่วนรอบที่ 41 การประมูลใบอนุญาตชุดที่ 1 อยู่ที่ 27,852 ล้านบาท ใบอนุญาต ชุด 2 อยู่ที่ 29,444 ล้านบาท รวม 57,296 ล้านบาท
การประมูลยังไม่หยุดเท่านั้น ได้ข้ามเข้าสู่วันใหม่ ในรอบที่ 42 เวลา 00.10 น. วันที่ 12 พ.ย. โดยใบอนุญาตชุดที่ 1 มีผู้เสนอ 1 ราย ราคาอยู่ที่ 28,250 ล้านบาท ส่วนใบอนุญาตชุดที่ 2 มีผู้เสนอราคา 1 ราย ราคาขยับขึ้นไปที่ 29,842 ล้านบาท รวมรายได้ที่รัฐได้จากการประมูลรอบนี้ อยู่ที่ 58,092 ล้านบาท ซึ่งผู้เข้าประมูลทั้ง 3 ราย ยังคงเคาะราคาเพื่อหนีคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง จนราคาประมูลรวมล่าสุดพุ่งสูงถึง 58,888 ล้านบาท ในการเคาะประมูลรอบที่ 43 โดยใบอนุญาตชุดที่ 1 ราคาอยู่ที่ 28,648 ล้านบาท ชุดที่ 2 อยู่ที่ 30,240 ล้านบาท
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ยังคงร่วมลุ้นผลการประมูล
เวลา 01.45 น. เข้าสู่การประมูลรอบที่ 46 ยังคงมีผู้เข้าประมูลครบ 3 ราย โดยใบอนุญาตชุดที่ 1 มีผู้เสนอราคาสูงสุดที่ 29,842 ล้านบาท และ ชุดที่ 2 มีผู้เสนอราคาสูงสุด 31,434 ล้านบาท ยอดรวมอยู่ที่ 61,276 ล้านบาท ส่วนประมูลในรอบที่ 47 เวลา 01.50 น. การเสนอราคาเพื่อชิงใบอนุญาตชุดที่ 1 อยู่ที่ราคา 30,240 ล้านบาท ชุดที่ 2 เสนอราคา 31,832 ล้านบาท ราคารวมอยู่ที่ 62,072 ล้านบาท
ล่าสุดเวลา 02.25 รอบที่ 48 ใบอนุญาตชุดที่ 1 เสนอราคาสูงสุด 30,638 ล้านบาท ชุดที่ 2 อยู่ที่ 32,230 ยอดรวม ล่าสุด 62,868 ล้านบาท
ขณะที่ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. กล่าวว่า ยังคงมั่นใจว่าการประมูลครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส และการแข่งขันราคาไม่ได้สูงเกินกว่าความเป็นจริง โดยวิเคราะห์ว่า กฎการประมูลที่กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ไม่จำเป็นต้องมีโครงข่ายเป็นของตัวเอง ทำให้การแข่งขันครั้งนี้เป็นไปอย่างคึกคัก เงินเดิมพันจึงสูงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาที่ยังเคาะแข่งกันจนสูง 3 หมื่นล้านบาท หากเทียบกับเวลาถือครองใบอนุญาตถึง 18 ปี จะถือว่าต่ำกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่จะต้องจ่ายเป็นค่าสัมปทานให้กับทีโอที และ กสท โทรคมนาคม พร้อมยกอย่างเช่นในปี 2557 เอไอเอส จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ทีโอที 14,593 ล้านบาท และปี 2556 จ่าย 24,273 ล้านบาท
“เพียงแค่ 2 ปี ก็สูงกว่ามูลค่าการประมูลครั้งนี้แล้ว เมื่อเทียบกับการประมูล 3G ถือว่าแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยการประมูล 3G บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ตซ เมื่อปี 3 ปีที่แล้ว มีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จาก เอไอเอส ดีแทค และ ทรู โดยแข่งขันกันประมูลใบอนุญาต 3 ใบ รวม 15 เมกะเฮิร์ตซ ราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท มีการเคาะราคาแข่งกันทั้งหมด 7 ครั้ง และจบลงด้วยราคารวม 41,625 ล้านบาท โดยเอไอเอส เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดที่ 14,625 ล้านบาท ทรูและดีแทค เสนอราคาเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท”
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่มีการประมูลคลื่นยาวนานข้ามวัน ขณะที่ประเทศอื่นที่มีการประมูลข้ามวัน จะใช้วิธีการประมูลแบบออนไลน์ ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะจบการประมูลที่ราคาเท่าใด และลุ้นว่าจะขยับราคารวมไปถึง 70,000 ล้านบาทหรือไม่.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น