.
Breaking News
recent

เนปาลเลิกบูชายัญเลือด ปิดตำนานลี้ลับ!

 เนปาลเลิกบูชายัญเลือด ปิดตำนานลี้ลับ!

หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของเนปาล นำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล แน่นอนล่ะว่า 'แผ่นดินไหว' เป็นภัยธรรมชาติ และมีคำอธิบายเกี่ยวกับการเกิดของมันในทางวิทยาศาสตร์ แต่ในอีกมุมหนึ่งของความเชื่อทางศาสนา หลายคนก็ปักใจว่า นั่นเป็นผลพวงจากการ 'บูชายัญ' ของชาวเนปาล
แต่ล่าสุด มีการรายงานจากสำนักข่าวเอเอฟพี ระบุว่า ทางการเนปาลได้มีคำสั่งยกเลิกประเพณีดังกล่าวแล้ว หลังจากที่ประเพณีนี้ถูกปฏิบัติต่อกันมานับร้อยๆ ปี โดยให้เหตุผลว่า ทางการไม่อยากให้บรรดาสัตว์น้อยใหญ่ต้องมาสังเวยชีวิตแบบไร้จุดหมายเช่นนี้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก แต่ยังมีเวลาอีก 4 ปีในการโน้มน้าวประชาชน ให้ไม่ต้องสังเวยชีวิตสัตว์เพื่อทำให้เทพเจ้าพอใจอีกต่อไป
อาจจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเราชาวพุทธไปสักหน่อย บางคนไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะมีอยู่จริงด้วยซ้ำ แต่ในที่สุดการทำร้ายทารุณสัตว์ในพิธีกรรมดังกล่าวก็ได้ยุติลงแล้ว ในโอกาสนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ขอพาคุณไปรู้จักพิธีเก่าแก่นี้กันว่ามีความเป็นมาอย่างไร พวกเขามีความเชื่ออย่างไร ทำไมจึงเกิดการบูชายัญขึ้นมานานถึง 400 ปี
ถ้าพร้อมแล้ว ตามมาอ่านกันเลย
1. พิธีบูชายัญสังเวยชีวิตสัตว์ให้เทพเจ้านี้ เรียกกันว่า เทศกาลคฒิมาอี (Gadhimai festival) เป็นพิธีบูชายัญที่จัดขึ้นทุก 5 ปีที่วัดคฒิมาอี เมืองพริยารปุระ อำเภอพารา ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางใต้ประมาณ 160 กิโลเมตร ของเมืองหลวงกาฐมาณฑุ ทางภาคใต้ของประเทศเนปาล ใกล้ชายแดนอินโดฯ-เนปาล และติดกับรัฐพิหาร (ประเทศอินเดีย) โดยมีผู้เข้าร่วมเทศกาลนี้จำนวนมาก ประมาณ 2.5-5 ล้านคนเลยทีเดียว
2. เทศกาลนี้มีการเฉลิมฉลองเป็นหลักโดยชาวมะเทสี และชาวรัฐพิหาร โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์บูชายัญครั้งใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย ควาย, หมู, แพะ, ไก่, หนู และนกพิราบ รวมแล้วครั้งละ 2.5 แสนตัวต่อการจัดงาน 1 ครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อการเซ่นสังเวยให้แก่ 'เจ้าแม่คฒิมาอี'
3. เจ้าแม่คฒิมาอี เป็นเทพองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู เป็นเทพีแห่งอำนาจ ผู้ที่ฆ่าสัตว์บูชาเจ้าแม่ มีความเชื่อว่าเจ้าแม่จะช่วยให้ยุติสิ่งเลวร้าย และนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง ชาวบ้านผู้อาศัยอยู่ในเมืองปาริยะปุระ ทางตอนใต้ของประเทศเนปาล บริเวณชายแดนติดกับประเทศอินเดีย ต่างให้ความเคารพบูชาอย่างมาก เพราะเชื่อว่าเจ้าแม่จะดลบันดาลให้ผู้ที่บูชาประสบความสำเร็จ สมปรารถนา
4. เทศกาลคฒิมาอี มีต้นกำเนิดมาจากชายที่ชื่อ บากวัน ชาอุดาห์รี เจ้าของบ้านในระบบศักดินา ซึ่งถูกจองจำอยู่ในป้อมมักวันปูร์ เมื่อราว 260 ปีก่อน ในระหว่างที่ถูกจองจำนั้นเองเขาเกิดฝันว่า เจ้าแม่คฒิมาอีได้มาโปรด และทุกปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเขาจะได้รับการแก้ไข หากทำการบูชาเจ้าแม่โลหิต


5. ต่อมา ชายคนดังกล่าวก็เป็นอิสระ เขาก็ได้ไปขอคำปรึกษาจากผู้หยั่งรู้ในหมู่บ้าน ก่อนจะจัดพิธีบูชายัญด้วยโลหิตขึ้น ด้วยการกรีดเลือดจาก 5 ส่วนในร่างกายของตัวเองมาบูชาเจ้าแม่คฒิมาอี โดยว่ากันว่าขณะทำพิธีนั้นได้เกิดปรากฏแสงไฟอยู่ภายในไหใบหนึ่งด้วย
6. แม้ว่าจะเป็นประเพณีเก่าแก่ ที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมานาน 400 ปี แต่ก็มีการแจ้งประท้วงต่อเทศกาลนี้เป็นจำนวนมากโดยกลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ และชาวเนปาลที่นับถือฮินดูจากภูมิภาคฮิลล์อยู่ตลอดเวลา
7. จากความโหดร้ายทารุณของพิธีดังกล่าว ทำให้มีคนบางกลุ่มบางศาสนาเชื่อกันว่า ผลกรรมจากการคร่าชีวิตสัตว์อย่างมหาศาลนี้ อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเนปาลครั้งล่าสุด
8. คนในวงการบันเทิงก็งานเข้าจากเหตุการณ์นี้ โดยนางแบบสาว โย ยศวดี ก็เคยได้กล่าวถึงพิธีกรรมนี้ของชาวเนปาลผ่านอินสตาแกรม และก็ถูกโยงใยประเด็นที่เธอพูดเข้ากับเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่าเกิดจากการฆ่าสัตว์เพื่อสังเวยเทพเจ้าของชาวเนปาล นำมาสู่ความหายนะ ซึ่งครั้งนั้นก็เป็นกระแสถกเถียงกันถึงประเด็นนี้ในโลกโซเชียลอย่างเผ็ดร้อนทีเดียว
9. ล่าสุด ในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 (พ.ศ.2558) เทศกาลคฒิมาอีได้รับการประกาศห้ามจากรัฐบาลเนปาลแล้ว โดยมีนักสิทธิสัตว์ ออกมาเปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่เนปาลยุติการเชือดสัตว์ครั้งนี้ หลังพยายามอย่างหนักเพื่อเปลี่ยนใจคณะกรรมการของวัด และรัฐบาลเนปาลมานานหลายปี นับเป็นชัยชนะของบรรดานักสิทธิสัตว์เลยก็ว่าได้
10. จากเดิมที่พิธีนี้เคยคร่าชีวิตสัตว์ต่างๆ ไปครั้งละหลายแสนชีวิต การที่ทางการเนปาลสามารถยุติพิธีกรรมนี้ได้ ก็คาดว่าจะช่วยชีวิตสัตว์ได้เป็นล้านๆ ตัว
ที่มาข้อมูล : th.wikipediakapookmthai
ไม่ระบุชื่อ

ไม่ระบุชื่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Business

Design

ขับเคลื่อนโดย Blogger.