.
Breaking News
recent

ละติจูดที่ 6


หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ ผมกลับมาอ่านทบทวนเจตนารมณ์ของหนังเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนหลายรอบ และพยายามหาคำตอบว่า จุดมุ่งหมายในการทำหนังเรื่องนี้สามารถบรรลุเป้าหมาย ในแง่ที่ว่าจะส่งเสริมความเข้าใจบนพื้นที่อันหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างที่มุ่งหวังจริงหรือไม่?
      
       มันเป็นอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่นะครับ สำหรับใครก็ตามที่คิดจะทำเรื่องแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคิดถึงความจริงที่ว่า พื้นที่ ณ จุด “ละติจูดที่ 6” อันหมายถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีความเป็น “พหุวัฒนธรรม” หรือ “หลากหลายวัฒนธรรม” ตามที่ท่านพลตรีนักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติ หมายเลข 5 กอ.รมน.(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนไว้
      
       ซึ่งความหลากหลายที่กินระยะเวลายาวนานและมีความแข็งแรงในตัวเองนั้น จะต้องถูกเล่าผ่านภายในเวลา 2 ชั่วโมง 10 นาที สิ่งนี้จะทรงประสิทธิภาพหรือส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของคนดูผู้ชมภาพยนตร์ด้านไหนอย่างไรบ้าง
      
       นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับผ่านสื่อมาตลอดระยะเวลามากกว่าสิบปีที่ฝังอยู่ในความคิดของผู้คน จะได้รับการคลี่คลายไปอย่างไร เมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้ แม้ท่านพลตรีนักรบจะชี้แจงว่า จุดเน้นของหนังเรื่องนี้ “ต้องไม่มีภาพความรุนแรง...และไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง” เพราะเป็นเรื่องที่เปราะบางและอ่อนไหว แต่การพูดถึงสามจังหวัดภาคใต้โดยไม่แตะประเด็นดังกล่าว ก็นับเป็นการสุ่มเสี่ยงพอสมควรต่อข้อครหาว่าจะมาสร้างภาพกันแบบไหน อย่างไรก็ดี แม้จะบอกว่า “ต้องไม่มี” แต่งานชิ้นนี้ก็ถือว่าได้เข้าไปแตะในประเด็นนั้นอยู่ แต่จะ “แตะ” ในมุมไหนนั้น ค่อยว่ากันอีกที
      
       ในเบื้องต้น คงต้องบอกกล่าวเล่าแจ้งกันสักเล็กน้อยถึงพื้นฐานเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ “ละติจูดที่ 6” ได้รับการสนับสนุนหลักๆ มาจาก กอ.รมน.เพื่อจุดมุ่งหมายพิเศษอย่างที่บอก ตัวหนังได้ “ธนดล นวลสิทธิ์” มารับตำแหน่งผู้กำกับ ที่ผ่านมา คุณธนดลเคยมีผลงานกำกับมาแล้วสามสี่เรื่อง ทั้ง “เขี้ยวอาฆาต”, “รักเอาอยู่”, “ตายโหงตายเฮี้ยน ตอน ทุบกรรม” (เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับเรื่อง “ขุนแผน”) เมื่อดูจากโปรไฟล์ จึงเห็นว่า ละติจูดที่ 6 นั้น โดดออกไปจากเรื่องแนวเดิมสูงมาก อย่างน้อยที่สุดก็คือ นี่ไม่ใช่หนังผี หรือหนังรักคอมิดี้อย่างที่เคยทำมา
      
       และแน่นอนว่า มันไม่ใช่การที่มีอะไรมาเข้าฝันให้ทำ แต่ทั้งคุณธนดล และ กอ.รมน.ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันมาแล้วอย่างเข้มข้น จนกระทั่งก่อเกิดเป็นหนังเรื่องนี้ ที่เล่าเรื่องของตัวละครกลุ่มหลักๆ 2-3 กลุ่ม
      
       คนแรกที่ควรค่าแก่การเอ่ยถึง ก็คือ “ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล” กับบทบาทของ “ต้น” หนุ่มโปรแกรมเมอร์จากกรุงเทพฯ ที่ถูกส่งลงไปยังจังหวัดปัตตานีเพื่อเซ็ตระบบบางอย่าง และ ณ ที่แห่งนั้น ต้นได้รู้จักกับ “ฟ้า” ครูสาวชาวมุสลิมที่ทำให้เขามีรอยยิ้มตั้งแต่วันแรกพบและสานต่อความสัมพันธ์จนพัฒนาถึงขั้นกลายเป็นความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน ในขณะเดียวกันนั้น...ชุมชนแห่งนี้ยังมี “ชารีฟ” เด็กหนุ่มวัยมัธยมผู้มุ่งมั่นด้านกีฬาปันจักสีลัต ชารีฟมีเพื่อนสนิทอยู่หนึ่งคนคือ “กาเซ็ม” เพื่อนชายวัยเดียวกัน แต่ความเป็นเพื่อนดูเหมือนจะเริ่มไม่ราบรื่น เมื่อสองสหายมีใจให้แก่แก่ผู้หญิงคนเดียวกัน นั่นก็คือ “เฟิร์น” สาวนักเรียนบ้านใกล้เรือนเคียง 
โลกสวย และ ฟีลกู๊ด ณ “ละติจูดที่ 6”
        อย่างที่ทุกคนย่อมจะรู้ว่า หนังเรื่องนี้มีปีเตอร์ฯ เป็นตัวละครเอก และหนังก็ใช้สอยเขาแทนสายตาของเราๆ ท่านๆ ที่เป็น “คนนอก” หรือ “คนแปลกถิ่น” ที่เพียงรับรู้เรื่องราวบนพื้นที่สามจังหวัดผ่านข้อมูลข่าวสารตามหน้าสื่อ สิ่งที่ติดตัวติดใจของ “ต้น” จึงได้แก่ความหวาดระแวงในเรื่องความปลอดภัยอันเป็นผลพวงจากข่าวสาร มีหลายฉากที่ต้นแสดงความแตกตื่นต่อเหตุการณ์บางอย่างและคิดว่าเป็นอันตราย แต่สุดท้ายไม่มีอะไรเกินไปกว่าความวิตกกังวลของตนเอง...
      
       แน่นอนว่า นี่เป็นมุมมองของหนังที่ตั้งใจไว้ คือนำเสนอมุมมองว่าบ่อยครั้ง เราก็หวาดระแวงเกินไปต่อพื้นที่อ่อนไหวแห่งนั้น นี่เป็นเป้าหมายของหนังที่อยากส่งเสียงบอกคนนอกพื้นที่ ทั้งนี้ เมื่อบวกรวมกับภาพสถานที่ต่างๆ ซึ่งผ่านความสามารถในการถ่ายภาพออกมาได้สวยงามแล้ว ก็เป็นที่น่าเชื่อว่า สามจังหวัดภาคใต้ในหลายมุมนั้น มีความงดงามและเป็นปกติสุขดี
      
       ขณะเดียวกัน มุมมองนี้ก็ส่งไม้ต่อให้กับอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าหนังสื่อออกมาได้ดี นั่นคือมุมมองของคนในพื้นที่ คำถามซึ่งเราคงมีเหมือนๆ กันก็คือ ทั้งที่ข่าวสารและสถานการณ์ก็ยืนยันอยู่ตลอดว่ามีความเสี่ยง แต่เหตุไฉนคนในพื้นที่เขายังอยู่ที่นั่นตรงนั้น “ครูฮัตซัน” (สหัสชัย ชุมรุม) ผู้เป็นพ่อของฟ้าและเป็นมุสลิมผู้เคร่งครัดได้ให้คำตอบไว้ในบางฉากของหนัง ตอนที่คุยกับลูกสาว ซึ่งฉากดังกล่าวผมถือว่าเป็นฉากที่ดีและได้ตอบคำถามข้อนั้นค่อนข้างชัด (แม้ว่าตามความเป็นจริง อาจจะยังมีเหตุผลอื่นอีกสารพัดก็ตามที)
      
       จากมุมมองของ “คนนอก” อย่างต้น ผมเห็นว่า สิ่งที่หนังสืบค้นลงไปได้อีกขั้น คือเรื่องของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะพี่น้องชาวมุสลิมที่นับถือศานาอิสลาม นั่นเป็นเรื่องที่หนังไม่อาจมองข้าม ความเคร่งครัดในวิถีปฏิบัติ ความศรัทธาต่อศาสนา ถูกส่งผ่านตัวละครหลายตัว ซึ่งหลักๆ จะเป็นคนรุ่นคุณพ่อคุณแม่ กับคนรุ่นลูก เราจะเห็นมุมมองความต่างระหว่างคนสองเจเนอเรชั่นนี้ผ่านครอบครัวหลักสองครอบครัว ไม่ว่าจะครูฮัตซันกับครูฟ้า หรือระหว่างพ่อผู้เคร่งครัดของชารีฟกับลูกชาย
      
       ความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปนี้ ทำให้เกิดความไม่เข้าอกเข้าใจกันเล็กๆ ระหว่างคนในครอบครัวและจำเป็นต้องปรับจูนหรือมีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามาช่วยสร้างจุดเปลี่ยนทางความคิดความรู้สึกระหว่างกัน ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล ครูฮัตซันเป็นศาสนิกผู้เคร่งครัดในหลักปฏิบัติทางศาสนาและอีกทั้งมีความฝันในการสร้างมัสยิดใหม่ซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลากว่าสิบปี เขาย่อมมีเหตุผลที่จะตักเตือนบุตรสาวเมื่อเห็นเธอสวมชุดที่ไม่ใช่ตามแบบมุสลิม
      
       ในทำนองเช่นเดียวกันนั้น พ่อของชารีฟที่เคร่งครัดในขนบประเพณีที่สืบทอดมาแต่บรรพชนก็มีความชอบธรรมพอที่จะสะกิดสะเกาให้ลูกชายวัยรุ่นเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงการมีอยู่ของตัวตน อย่างเช่นลิเกฮูลูหรือการละเล่นท้องถิ่นอื่นๆ 
โลกสวย และ ฟีลกู๊ด ณ “ละติจูดที่ 6”
        ภาพรวมกว้างๆ ทำให้ผมรู้สึกว่าหนังอย่าง “ละติจูดที่ 6” เป็นหนังที่เล่นกับเรื่องของ “คนในพื้นที่”...คนในพื้นที่ที่ก็มีสุขทุกข์ให้ต้องเผชิญไปตามประสา บางที มันอาจจะไม่ใช่เรื่องราวใหญ่โต แต่เป็นเรื่องราวของคนเล็กๆ คนตัวเล็กๆ ในพื้นที่ “เส้นรุ้ง” แห่งนี้ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของคนตัวเล็กๆ อย่างเช่น ลูกที่ต้องยืนยันการมีอยู่ของตนเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งก็มีความคิดความฝันที่อาจแตกต่างไปจากพ่อ, ความรักของเด็กวัยรุ่นที่ต้องเผชิญกับเรื่องรักสามเส้า
      
       ซึ่งทั้งหมดก็คงไม่ต่างไปจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกคืนวันบนแผ่นที่ประเทศไทยส่วนอื่นๆ เป็นธรรมดา...และอาจจะมีที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือเรื่องรักระหว่างคนต่างศาสนา ซึ่งหนังจงใจมากในการวางประเด็นนี้ไว้ในตัวละครทั้งสองวัย ไม่ว่าจะเป็น “ต้น” กับ “ฟ้า” หรือแม้แต่ “ชารีฟ” “กาเซ็ม” ที่เป็นมุสลิม และ “เฟิร์น” ที่เป็นไทยพุทธ เพียงแต่หนังพูดแบบผ่านๆ และไปให้น้ำหนักระหว่างคู่ของต้นกับครูฟ้าเป็นจุดเด่น
      
       เรื่องราวของมนุษย์ ความศรัทธา ความรัก และบาดแผลอันเป็นผลพวงสืบเนื่องจากความรุนแรงและยังความเจ็บปวดในใจของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ดูจะเป็นประเด็นหลักที่พอจะพูดได้ว่ามีน้ำหนักมากที่สุดของหนัง...มีการจัดวางองค์ประกอบภาพ (mise en scene) ที่มีความหมายในซีนสั้นๆ ต้นเรื่อง ที่เราจะเห็นคำว่า “เกียรติ” กับคำว่า “ปัตตานี” วางคู่กัน ราวกับจะให้เห็นเป็นการสื่อความ อันได้แก่ “เกียรติของปัตตานี” ประโยชน์สูงสุดของการดูหนัง “ละติจูดที่ 6” คือการเดินทางสู่ความเข้าอกเข้าใจในหัวจิตหัวใจคนที่ยังอยู่ในพื้นที่ (แต่หากอยากรู้ที่มาของปัญหา ต้องไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม) ได้รู้ว่าปัตตานีมีเสน่ห์ความสวยงามอย่างไร ผ่านภาพโลเกชั่นในมุมกล้องที่ถ่ายได้สวย ละเมียดและผ่านการละเล่นบางอย่างของชาวปัตตานี (แต่ถ้าอยากจะรู้ “ความหมาย” ของวัฒนธรรมเหล่านั้นแบบกระจ่าง ก็คงต้องไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมอีกเช่นกัน) ละติจูดที่ 6 เป็นหนังที่ว่าด้วยโลกมุมสวยๆ มีความสดใส มีความเศร้า ก่อนจะถูกจับขมวดเข้าในความฟีลกู๊ด ณ จุดที่เส้นรุ้งพาดผ่าน
      
       กระนั้นก็ตาม...ในความเป็นหนัง...ทั้งที่ดูเหมือนจะมีแต่มวลสารที่ดีงามตามแบบที่ว่ามา ผมกลับรู้สึกคล้ายๆ ว่า “เส้นรุ้งทางรสนิยม” ระหว่างผมกับผู้ทำหนังเรื่องนี้ อาจไม่พาดผ่านถึงกัน และเป็นเส้นขนานกันไป
      
       ผมชื่นชมในเนื้อหาหลายมุมที่หนังถ่ายทอด แต่ “วิธีการ” และ “รายละเอียด” หลายอย่างในหนัง กลับไม่สามารถส่งพลังให้แก่หนังได้อย่างที่ควรจะเป็น ไล่ตั้งแต่ตัวเอกตัวหนึ่งของเรื่อง อย่าง “ต้น” ผมรู้สึกว่าคาแรกเตอร์นี้ไม่มีมวลสารอะไรมากพอที่จะไปต่อยอดเอาความเข้าใจอะไรจากพื้นที่ได้ นอกจากความหวาดระแวงที่หนังหยิบยื่นไว้ในใจเขา นอกนั้น เราจะไม่ได้เห็นต้นทำอะไรอื่นเลย นอกเสียจากหมกมุ่นกับความรัก ดวงตาของเขาแวววาวตั้งแต่เห็นฟ้าบนรถไฟ และหลังจากนั้น ดวงใจของเขาก็เหมือนไม่มีพื้นที่หลงเหลือไว้ให้สิ่งใด นอกจาก “ฟ้า” มันเป็นความเบาหวิวอย่างไม่น่าจะเป็น
      
       อีกทั้งการเค้นอารมณ์ด้านการแสดงในหลายครั้งของต้น ก็ดู “ล้น” จนเราประดักประเดิดจะรู้สึกร่วมไปด้วย เช่น ฉากที่ตวาดหลานสาวและจับเธอเขย่าตัวแล้วก็ร้องไห้กอดกันรำพันถ้อยคำอีกหลายประโยค มันเป็นความน่าเศร้าโศกของความดราม่าที่ไม่อาจเปล่งพลังความดราม่าออกมาได้ เรื่องดราม่านี่จะว่าไป มันทำกันไม่ได้ง่ายครับ ลำพังแค่คิดว่ามีฉากตัวละครเสียน้ำตาแล้วมันจะเกิดความดราม่าได้นี่ คิดว่าน่าจะเป็นลิเกที่มีความชอบธรรมจะทำอย่างนั้นได้ (มีฉากดราม่าที่ดราม่าน่าประทับใจได้จริงๆ อยู่ฉากสองฉาก ส่วนใหญ่เกิดจากพ่อของฟ้า ซึ่งนี่ต้องนับถือในความสามารถของนักแสดงรุ่นใหญ่อย่างคุณสหัสชัย ชุมรุม ที่ไม่เพียงแสดงได้ถึง หากแต่ยังส่งพลังช่วยนางเอกของเรื่อง “ปริศนา กัมพูสิริ” อดีตนางสาวไทยปี พ.ศ.๒๕๕๕) 
โลกสวย และ ฟีลกู๊ด ณ “ละติจูดที่ 6”
        สิ่งเหล่านี้มันก่อกวนความรู้สึกในส่วนที่จะซาบซึ้งไปกับเรื่องราวพอสมควร การแฟลชแบ็กในหลายๆ จังหวะ ทำให้เสียเรื่องเสียอารมณ์มากกว่า (และแฟลชแบ๊กบ่อยเหลือเกิน ราวกับเกรงว่าคนดูจะลืมว่าเหตุการณ์ก่อนหน้าราวๆ สิบหรือยี่สิบนาทีนั้นเกิดอะไรขึ้น) มีรายละเอียดเรื่องการโดยสารของตัวละคร (รถไฟ/เครื่องบิน) ก็เข้าใจว่าหนังจำเป็นต้องมีโฆษณา แต่ถ้าทำให้มันเนียนกว่านี้ จะดีกว่าไหม? ตอนลงไปใต้ นั่งรถไฟชั้นสาม แต่พอกลับขึ้นมา ปีเตอร์กับหลานนั่งเฟิร์สคลาส นี่เป็นการกลั่นแกล้งรายละเอียดของเรื่องใช่หรือไม่?
      
       ขณะที่การใช้เพลงประกอบ (บอดี้สแลม) ในช่วงเลยกลางเรื่องไปหน่อยๆ เหมือนเป็นช่วงปล่อยช่วงพักของหนัง ก็ดูแล้วยิ้มมากกว่าจะรู้สึกถึงพลังของเพลงหรือเรื่องตรงนั้น
      
       พูดกันอย่างถึงที่สุด แม้กระทั่งเป้าหมายของหนัง คิดว่าก็ส่งพลังไปไม่ถึง ความลึกซึ้งในแง่ที่พยายามจะสะท้อนความหลากหลายของวัฒนธรรม หรือพูดแบบวิชาการหน่อยก็ “พหุวัฒนธรรม” ก็ดูจะเป็นอะไรที่ “แตะแล้วผ่าน” จนเกือบจะหลุดลอย
      
       คือถ้าไม่มีบทพ่อของฟ้าช่วยไว้ นอกนั้นคงกลายเป็นหนังรักดาษดื่นธรรมดาเรื่องหนึ่ง และไหนๆ ก็ไหนๆ สุดท้ายแล้วต้องยอมรับว่า สิ่งที่หนังเรื่องนี้สามารถ “เป็น” ได้มากที่สุด ก็คือหนังรัก และหากจะพูดเช่นนั้น...ความรักนั้นสามารถเป็นต้นทางให้ใครสักคนเดินเข้าไปเรียนรู้คนอีกคนได้เช่นกัน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ตัวละครหลักที่มาจากต่างถิ่น ไม่ได้แสดงถึงความกระตือรือร้นในการสืบค้นวิถีแห่งท้องถิ่นแต่อย่างใดเลย นอกจากพูดคำเท่ๆ แบบ... “ผมเริ่มคุ้นเคยกับที่นี่ ผมชอบที่นี่ และผมชอบคุณ” ประเด็นก็คือ ถ้าไม่มี “คุณ” ผมจะชอบที่นี่ไหม? นั่นคือคำถาม
      
       อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด ของ “ละติจูด ที่ 6” คืองานด้านภาพ ที่เนี้ยบและละเมียดละไม มันอาจทำให้คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่เคยไปเยือน ได้มีโอกาสเห็นภาพสวยๆ ของเมืองปัตตานี จุดนี้จะว่าไป ก็ดูสำเร็จสมอารมณ์หมายของผู้สร้าง ที่ต้องการให้เราเห็นทัศนียภาพด้านงามๆ ของหนึ่ง(ในสาม)จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพพื้นที่ ภาพของคนในพื้นที่ ภาพของคนนอกพื้นที่ ไปจนกระทั่งภาพของเจ้าหน้าที่ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นมุมหนึ่ง ณ ดินแดนหนึ่งซึ่งเส้นรุ้งพาดผ่าน คือโลกสวยและฟีลกู๊ด งดงามอยู่ ณ จุด “ละติจูดที่ 6”... 
โลกสวย และ ฟีลกู๊ด ณ “ละติจูดที่ 6”
        
โลกสวย และ ฟีลกู๊ด ณ “ละติจูดที่ 6”
        
โลกสวย และ ฟีลกู๊ด ณ “ละติจูดที่ 6”
        
โลกสวย และ ฟีลกู๊ด ณ “ละติจูดที่ 6”
        
โลกสวย และ ฟีลกู๊ด ณ “ละติจูดที่ 6”
        
โลกสวย และ ฟีลกู๊ด ณ “ละติจูดที่ 6”
       
ไม่ระบุชื่อ

ไม่ระบุชื่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Business

Design

ขับเคลื่อนโดย Blogger.